วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ภาคเรียนที่ 1/2564


 

กศน.ตำบลโพนางดำตก เปิดรับสมัคร นักศึกษาใหม่ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ท่านใดสนใจ สามารถติดต่อ ครูโจ กศน.ตำบลโพนางดำตก 0800274033 ตลอดเวลา..ครับ

** ขยายเวลารับสมัครจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 นี้ **

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564

ฐานการเรียนรู้ : วิถีคนเมืองสาปยา


ชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา

ชุมชนย่านตลาดโรงพักเก่าสรรพยา ตั้งอยู่ใน อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรือง วิถีชีวิตชุมชนมีความสัมพันธ์กับสายน้ำเจ้าพระยา เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมีทุนทางวัฒนธรรมหลากหลาย ปัจจุบันพัฒนา เป็นแหล่งทองเที่ยวโดยชุมชน ที่มีการบริหารจัดการโดย “ชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรรพยา” ที่มีสมาชิกประกอบด้วยบุคลากรที่มาจากหลายภาคส่วนทั้งคนในชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ในกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางการจัดการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม




ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 แหล่งท่องเที่ยวในย่านชุมชนนี้ บุคลากรด้านการท่องเที่ยว และประชาชนในชุมชน ได้รับการพัฒนาจากหลายหน่วยงาน มีความพร้อมจึงได้ร่วมกันจัดงานถนนคนเดิน โดยใช้แนวคิด “ตลาดกรีนดี” (Green Market) งดใช้โฟม และพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง หันมาใช้วัสดุ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ในชื่องานว่า “เที่ยววิถีชุมชนคนสาปยา” ตอน ย้อนรอยโรงพักบอกรักสรรพยา ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

เดือนสิงหาคม – กันยายน 2561 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดชัยนาท ให้จัดกิจกรรมNight Market สนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ สัปดาห์แรกของทุกเดือน โดยใช้แนวคิดตลาดกรีนดีเช่นเดิม และในปีงบประมาณ 2562 เทศบาลได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมหลักหมุนเวียนตามเทศกาลต่าง ๆ ในแต่ละเดือนตามที่กำหนดไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยว โดยไม่ซ้ำกันจนครบ 12 เดือน





ชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรพยา ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของชุมชนเก่าซึ่งหากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้นับวันก็มีแต่จะเลือนหายไปจึงได้ร่วมกันทำนุบำรุงและส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าเพิ่มทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยบูรณาการร่วมกับ องค์ความรู้ด้านการจัดการ “แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว” เพื่อเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้ สร้างความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์รากเง้าของชุมชนตามแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงวัฒนธรรมบนพื้นฐานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป




ทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นที่โดดเด่นออกมาอย่างเป็นรูปธรรมและแสดงอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่น ในปี 2558 – 2560 ชมรมฟื้นฟูตลาดเก่าสรรพยาร่วมกับเทศบาลตำบลสรรพยา จัดกิจกรรมถนนคนเดินในช่วง “งานเล่าขานตำนานเมืองสาปยา (สรรพยา) อัฏฐมีบูชารำลึก” ปีละ 1 ครั้ง ที่บริเวณถนนเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา ความยาวประมาณ 500 เมตร ถนนดังกล่าว เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวจากวัดสรรพยาวัฒนาราม ถึง อาคารโรงพักเก่าสรรพยา ซึ่งเป็นต้นแบบของโรงพักสามแยก ในงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว ที่สนามเสือป่า กรุงเทพฯ ระหว่างทางเดินจะมีภาพเขียนสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนในอดีตจำนวน 3 ภาพ ศาลเจ้าสรรพยาปึงเถ่ากงมา และที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมทั้งย่านค้าขายสำคัญของอำเภอสรรพยา สภาพบ้านเรือนมีทั้งเรือนแถวไม้ อาคารบ้านเรือนสมัยเก่าและสมัยปัจจุบัน








ศน.อำเภอสรรพยา ส่งเสริม และสนับสนุน

1. จัด และส่งเสริมการศึกษานอกระบบการศึกษาตามอัธยาศัยให้มีคุณภาพ และบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง
2. จัด และส่งเสริมการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำเพื่อพัฒนาสมรรณนะของประชาชน และชุมชน    ให้สามารถสร้างรายได้ สร้างสรรค์และแบ่งบัน     ด้านอาชีพได้อย่างยั่งยืน
3. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ในการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต และการศึกษาอาชีพเพื่อการมีงานทำ
4. พัฒนา และส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร มาใช้ให้เกิดประโยชน์
5. พัฒนาบุคลากร และระบบการบริหารจัดการให้สามารถดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมการศึกษาคลอดชีวิต และการศึกษาอาชีพ เพื่อการมีงานทำของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เรียนรู้วิถีชุมชนคนสาปยา


ฐานเรียนรู้ การทำหัตถกรรมผักตบชวาบ้านอ้อย
เรียนรู้กลุ่มหัตถกรรมจักสานบ้านอ้อย ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท แปลงร่างผักตบชวาให้เป็นสินค้าระดับประเทศ วิทยากรโดย ประธานกลุ่มผู้ผลิต นางจรวยพร เกิดเสม


ฐานเรียนรู้ หัตถกรรมจากใบเตย และใบมะพร้าว
เรียนรู้การทำหัตถกรรมงานฝีมือจากใบเตยและใบมะพร้าว นำมาประดิษฐ์เป็น ดอกกุหลาบสวยๆได้ด้วย กลิ่นหอมของใบเตยช่วยให้สดชื่น สามารถหาได้ง่าย และวิธีประดิษฐ์ ก็ไม่ยาก อีกทั้งเป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ลดวัสดุที่ก่อมลพิษ เหมาะกับการมอบเป็นช่อดอกไม้แสดงความยินดี ประดับไว้ในส่วนต่างๆ ของบ้าน หรือเป็นดอกไม้บูชาพระ โดยวิทยากร คุณวิสุทธิ์ พันธุ์หวาด และคุณพรรณณี พันธุ์หวาด


ฐานเรียนรู้ การทำผ้าบาติก กลุ่มสรรพยาบาติก
เรียนรู้การทำผ้าเช็ดหน้ากับกลุ่มสรรพยาบาติก โดยประธานกลุ่ม : คุณเอื้อมพร แอธน


ฐานเรียนรู้ การทำปลาร้าลุงสุบิน

เรียนรู้การทำปลาร้าตามสูตรเด็ดเคล็ดลับของพ่อตาแม่ยาย ที่ทำมานานกว่า 30 ปี ซึ่งใช้
ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง การันตีความอร่อยของโรงปลาร้าแห่งนี้ จากรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทปลาร้าทอดจากงานประกวดปลาร้าอำเภอสรรพยา ปี 2559 วิทยากรโดย คุณลุงสุบิน เปี่ยมแก้ว


ฐานเรียนรู้ การทำขนมหน้างากุยหลี
เดินทางจากตลาดโรงพักเก่าสรรพยา มุ่งหน้าไปสู่ตลาดโพนางดำ เพื่อไปเรียนรู้ การทำขนมหน้างากุยหลี ขนมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ของฝากขึ้นชื่ออำเภอสรรพยา ส่งต่อ ความอร่อยรุ่นสู่รุ่น กับคุณแม่ ละเมียด คลอวุฒิวัฒน์ อายุ 78 ปี


ฐานเรียนรู้ การทำอาหารพื้นถิ่น โดยแม่ครัวชุมชน
เรียนรู้การทำอาหารพื้นถิ่น เมนูพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณ รสชาติกลมกล่อมหอมอร่อย อาทิแกงบอนกับกะทิ ปลาย่าง หอมอร่อยเข้ากัน ต้มปล้าหัวตาล ครบเครื่องความอร่อย ฉู่ฉี่ปลาสังกะวาด ลาบปลาร้า และขนมหวานลูกตาลลอยแก้ว กับแม่ครัวชุมชน คุณละออ บุญอยู่


ฐานเรียนรู้ เก็บไข่เป็ดไล่ทุ่งและการทำไข่เค็มเป็ดไล่ทุ่ง
สัมผัสบรรยากาศกลางทุ่งนายามเช้า ดูวิธีการเก็บไข่เป็ดไล่ทุ่ง และเรียนรู้วิธีการทำไข่เค็ม กับคุณแม่ สมวงค์ ขันทกสิกรรม เจ้าของฝูงเป็ดจำนวน 2,000 ตัว


ฐานเรียนรู้ “สรรพยาฟาร์ม” ปลาสวยงาม
เรียนรู้พันธุ์ปลาสวยงามกับ “สรรพยาฟาร์ม” อาทิ ปลากัดแฟนซี ปลาหมอสี ปลาทอง ฯลฯ วิทยากรโดย คุณ ธีรภัทร โพธิ์เหลือง อายุ 34 ปี ซึ่งได้ทำการเริ่มเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ถึงปัจจุบัน ส่วนใหญ่เน้นสายพันธุ์สวยงามเป็นหลัก โดยได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ปลาจากการเลี้ยงเพื่อดูเล่นจนมาสู่การเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่าย โดยมีการจำหน่ายให้กับผู้ที่ชื่นชอบปลาสวยงามทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นส่งออกต่างประเทศ ตลาดส่วนใหญ่จะเป็นในย่านอาเซียน เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน ในแถบยุโรปมีประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น ยังอนุรักษ์พันธุ์ปลาน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยการรับซื้อพันธุ์ปลาหายากจากชาวประมงมาเพาะเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป


ฐานเรียนรู้ โรงเรียนสแกนข้าว (แปลงนาปลอดภัย)
การทำนาข้าวปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแนวใหม่โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ได้มาซึ่งข้าวปลอดภัยไร้สารพิษ รักษาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
วิทยากรโดย คุณลุงสมศักดิ์ เกิดเสม
พันธุ์ กข 43 ข้าวเมื่อหุงสุกมีลักษณะร่วนและค่อนข้างแข็ง มีอายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 95 วัน
พันธุ์ ข้าวหอมมะลิ 105 มีความนุ่ม กลิ่นหอม เมื่อข้าวเย็นตัวลงข้าวจะไม่แข็งตัว มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน
พันธุ์ ข้าวไรซ์เบอรี่ (Riceberry ) อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ลูทีน วิตามินอี วิตามินบี
และสังกะสีช่วยป้องกันโรคมะเร็ง ระบบหัวใจ ความดันโลหิตสูง และต้านความเสื่อมของเซลล์ เม็ดเรียวยาว ผิวมันวาว มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีรสชาติหวาน สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี และใช่เวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน


ฐานเรียนรู้ วิถีคนทำตาล
ออกเดินทางไปดูการทำน้ำตาลที่บางสารวัตร ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
โดยเริ่มการเก็บน้ำตาลโตนดจากงวงตาล การเคี่ยวน้ำตาลโตนดให้เดือดด้วยความร้อน การปั่นน้ำตาลโตนดให้ข้นและเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน จนมาถึงชั้นตอนการหยอดน้ำตาลโตนดลงภาชนะตามรูปแบบที่ต้องการ วิทยากร โดย คุณพ่อ ประนอม มั่งเนียม คุณแม่ ทองเปรย มั่งเนียม และ คุณศิริธา บัวทอง (พี่ต้อง)


ฐานเรียนรู้ ข้าวเกรียบอ่อนงาดำ (ลอยน้ำ)
เรียนทำข้าวเกรียบลอยน้ำ ต.สรรพยา อ.สรรพยา โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมแป้ง และส่วนผสม ไปจนถึงขั้นตอนของการหยอดข้าวเกรียบลอยน้ำ วิทยากรโดย คุณวิลินดา วศินศิริกุล


กิจกรรม เรือผีหลอก
“เรือผีหลอก” เป็นวิธีจับสัตว์น้ำในยามค่ำคืน ที่บรรพบุรุษชาวประมงพื้นบ้านคิดค้นขึ้นด้วยความฉลาดแบบเรียบง่าย โดยการพายเรือที่ตกแต่งรูปร่างเป็นพิเศษเลาะไปตามชายตลิ่ง เพื่อให้กุ้งปลาตกใจจนกระโดดหนีเหมือนผีหลอก แต่กลับตกลงไปในท้องเรือที่เตรียมไว้ วิทยากรโดย ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่
Cr.ข้อมูลสำนักงานเทศบาลตำบลสรรพยา



วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564

 กลุ่มผู้ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ตำบลโพนางดำตก